นักพัฒนาไทยใน Droidsans เอา Firefox OS 1.2 ลงบน Nexus 4 ได้แล้ว!

ในฟอรัมของเว็บ Android อันดับหนึ่งของไทยมีกระทู้ตัวนึงที่ชื่อว่า [ROM] Firefox OS 1.2 (พัฒนาบน android4.3) Flash ผ่าน Recovery เหมือนรอมปกติได้แล้ว ซึ่งเจ้าของกระทู้ก็ pureexe อายุยังไม่เยอะครับอยู่ในโซน 1X แต่ก็มีความขยันล้วงแงะแกะเกาจนเอา Firefox OS มาลงกับ Nexus 4 พร้อมคีย์บอร์ดภาษาไทย (แต่ยังไม่เสถียรเท่าไหร่) แต่น้องเขาก็พยายาม build ออกมาเรื่อยๆ แม้จะไม่ทุกวันก็ตามครับ ทางเว็บหมาไฟขอเป็นกำลังใจให้ครับผม ส่วนเรื่องภาษาไทยจะพยายามคุยกับน้อง pureexe อีกทีว่าจะทำอย่างไรกันดี

​Firefox OS บน Nexus 4 กับภาษาไทย

​Firefox OS บน Nexus 4 กับภาษาไทย

 

น้องเขายัดภาษาไทยลงมาแล้วด้วย

น้องเขายัดภาษาไทยลงมาแล้วด้วย

 

สามารถไปตามดาวน์โหลด ช่วยทำ หรือแนะนำติชมกันได้ที่ XDA http://forum.xda-developers.com/showthread.php?t=2388237 หรือ DroidSans http://droidsans.com/node/136411 ได้เลยครับ

Firefox 25 จะมีความสามารถเปิด/ปิดโปรแกรมเสริมแบบเดียวกับ Flashblock

ใน Firefox 25 (2 รุ่นถัดไป) จะมีความสามารถเลือกเปิด/ปิดการใช้งานโปรแกรมเสริม (Plug-in) ได้จากหน้าเว็บหรือแถบที่อยู่ ใครที่เคยใช้ Flashblock มาก่อนก็น่าจะรู้ว่าวิธีการใช้งานของมันเป็นอย่างไร

โดยที่หน้า ตัวจัดการส่วนเสริม ของ โปรแกรมเสริม จะมีตัวเลือกใหม่ที่ชื่อว่า ถามเพื่อเปิดใช้งาน (Ask to Activate) เข้ามา แต่ถ้าเป็นตามค่าปริยายของ Firefox นั้นจะ เปิดใช้งานตลอด (ถ้าไม่ติด blacklist อย่าง Java Development Toolkit ตามตัวอย่าง) ถ้าอยากควบคุมการใช้งานโปรแกรมเสริมเองก็เลือกตัวเลือก ถามเพื่อเปิดใช้งาน ได้เลย

ถ้าเจอเว็บที่ต้องการใช้งานโปรแกรมเสริมนั้น ๆ (ในกรณีนี้คือ Adobe Flash Player) ก็จะขึ้นบล็อคเทา ๆ ตามเหมือนที่อยู่ทางขวาของรูป แต่บางเว็บใช้ Flash เป็นโพรเซสหลังบ้าน ไม่ได้เอามาโชว์กราฟิค ก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้เพราะจะมีไอคอนเลโก้ตัวสีน้ำเงินปรากฏอยู่ตรงแถบที่อยู่ทางซ้ายมือของรูป แสดงขึ้นมาว่า เว็บฉันต้องการใช้โปรแกรมเสริมนะจ่ะนาย

โดยจะมีกรณีให้เลือกอยู่สองอย่างคือ

  • อนุญาตทันที: เป็นการอนุญาตแค่ชั่วคราว หลังจากปิดและเปิด Firefox ขึ้นมาใหม่ มันก็จะถามอีก
  • อนุญาตและจำไว้: จำชื่อเว็บไว้ถาวรและเปิดใช้งานโปรแกรมเสริมนี้ตลอด เหมาะสำหรับเว็บที่เรามั่นใจว่าปลอดภัยและเราต้องใช้มันบ่อย ๆ เช่น Youtube เป็นตัน (หมายเหตุ: แต่พอปิด Flash ไป Youtube มันก็สลับไปใช้ HTML5 Player ให้ทันทีนะ)
เปิดใช้งานได้แล้ว เย่!

เปิดใช้งานได้แล้ว เย่!

Continue reading …

แถบเครื่องมือนักพัฒนา: Command line interface สารพัดประโยชน์บน Firefox

แถบเครื่องมือนักพัฒนาหรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า Developer Toolbar เป็นแถบเครื่องมือเล็ก ๆ ที่อยู่ล่างสุดของหน้าต่าง Firefox เวลาเปิดใช้งานก็แค่กด Shift + F2 แต่ความสามารถของเจ้าตัวนี้ไม่ค่อยเล็กเลย เพราะเราใส่สามารถใส่ graphical command line interface ลงไปได้ ถูกใจนักพัฒนาสาย terminal หรือ linux มาก ๆ

เริ่มแรก อยากรู้อะไรก็แค่พิมพ์ help ก็จะปรากฏรายการที่เราสามารถพิมพ์คำสั่งลงไปได้ยาวพรืดแบบนี้

ส่วนตัวแล้วมีคำสั่งโปรดที่ใช้ประจำ ๆ ก็มี

  • restart: เวลา Firefox เริ่มอืด (ใช้เกิน 6 ชม.) ก็พิมพ์แค่คำสั่งนี้มันก็จะทำการเริ่ม Firefox ใหม่ให้อัตโนมัติ
  • screenshot: จับภาพหน้าจอ (screenshot) ภายใน Firefox ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาโปรแกรมภายนอก แถมมีคำสั่ง –fullpage จับภาพทั้งเว็บได้ด้วย แม้เว็บจะยาวแค่ไหนก็ยังจับได้
    ตัวอย่างคำสั่ง screenshot screenshot_wiki.png –fullpage
  • jsb: ย่อมาจาก JavaScript beautifier ก็ตรงตัวเลยว่าทำให้ไฟล์ js ที่ถูกบีบอัดขนาดและตัวแปร (minimisation) แปลงและจัดระเบียบให้อ่านออก (beautifier) อีกครั้ง เหมาะสำหรับการ debug โค้ด javascript เป็นอย่างยิ่ง
    ตัวอย่างคำสั่ง jsb http://code.jquery.com/jquery-2.0.2.min.js
  • export: ณ ตอนนี้สามารถนำออกมาได้เป็น html อย่างเดียว โดยมันจะทำการคัดลอก source code html แล้วเปิดอีกแท็บนึงที่เป็นตัวอักษรล้วน ๆ (plain text) สามารถคัดลอกหรือบันทึกไฟล์ (.txt) ลงไปได้เลย
    ตัวอย่างคำสั่ง export html

ยังมีอีกหลายคำสั่งรอไปศึกษาเอาจาก help ดูครับ ถ้าอยากได้คำสั่งเอาไว้ใช้เองก็สามารถเขียนเองได้ด้วย A ‘mozcmd’ directory หรือใช้ The Scratchpad ก็ได้เช่นกัน ลองใช้แถบเครื่องมือนักพัฒนาดูครับ ง่ายและเร็วกว่าการจับเมาส์เป็นไหน ๆ

Firefox ยังคงเป็นเบราว์เซอร์ประจำ Ubuntu 13.10

ในชุมชมของ Ubuntu มีการ debate กันแล้วหลายครั้งว่า ควรจะเปลี่ยนเบราว์เซอร์ที่อยู่ใน Ubuntu จาก Firefox ไปเป็น Chromium ดีไหม และล่าสุดก็มีการตัดสินใจแล้วว่า Firefox ก็ยังคงเป็นเบราว์เซอร์ปริยายที่อยู่ใน Ubuntu 13.10 เหมือนเดิม

สาเหตุที่ยังไม่เปลี่ยนก็เพราะ Chromium ก็เพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลง API และการรวมตัวเข้ากับ Web Apps หลังจากที่ Ubuntu เริ่มรองรับ Web Apps (แน่นอนว่าต้องเข้ากับ Ubuntu Phone ด้วย) ก็เลยยังเป็นสาเหตุที่ยังไม่เปลี่ยน แต่ในรุ่น 14.04 จะมีการถกประเด็นนี้กันอีกรอบครับ

ใครที่อยากให้ Firefox ยังคงเป็นเบราเซอร์ประจำ Ubuntu อยู่แนะนำให้ตามข่าวใน Ubuntu.com ครับผม
Continue reading …

ZTE Open ขายหมด Ebay เมกาและอังกฤษแล้ว

ZTE Open ขายหมดแล้ว

ZTE Open ขายหมดแล้ว

หลังจากที่ ZTE Open ได้ถูกขายใน Ebay ในราคา 80 ดอลลาร์ (2400 บาท) ที่สหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา มาวันนี้ของก็ขายหมดเป็นที่เรียบร้อย ที่หมดเร็วเป็นเพราะจำนวนที่่มีในสต็อคไม่เยอะเท่าไหร่ ก็เลยทำให้ขายหมดเร็วมาก โดยในสหราชอาณาจักรถูกขายไป 990 เครื่องและที่อเมริการก็ขายไป 985 เครื่อง แต่สต็อคจะมาอีกรอบประมาณช่วงเดือนกันยายนนี้

ZTE Open เป็นมือถือในระดับผู้ใช้งานต่างจาก Keon และ Peak ที่เป็นระดับนักพัฒนา แต่การที่เอาไปขายในตลาดอย่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เพื่อยอดขาย (เพราะตลาดของสองประเทศนี้จะเน้นสมาร์ทโฟนกลางถึงสูง) แต่เพื่อเพิ่มความสะดวกให้นักพัฒนา Firefox OS ที่ต้องการใช้เป็นเครื่องทดสอบแอพ และเป็นมือถือเครื่องที่สองที่ใช้งานได้จริง ๆ จัง ๆ อีกด้วย

ที่มา – Independent

Firefox บน Android จะรองรับ Chromecast?

คุณ Mark Finkle ทีมพัฒนา Front-end ของ Firefox บน Android ได้เปิดบั๊กหมายเลข 901803 ใน Bugzilla (บักศิลาปรับหน้าตาใหม่แล้วหลังจากไม่ได้ปรับมานานปี หน้าตาดูดีขึ้นโข) ที่เกี่ยวกับการรองรับ Chromecast ใน Android แล้วคุณ Mark ก็ได้ส่งแพทช์ขึ้นไปหลาย ๆ ส่วนบางแล้ว คิดว่าคงใช้เวลาอีกสักพักนึงน่าจะเสร็จเรียบร้อย น่าจะช่วยให้เราท่องเว็บด้วย Firefox บนทีวีจอใหญ่ ๆ ได้ น่าจะทำให้สะดวกและสนุกมากขึ้นด้วย

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก Chromecast มันก็คืออุปกรณที่ต่อกับทีวีและสั่งให้ stream ภาพหรือวิดีโอได้จากอุปกรณ์ที่รองรับ ซึ่งตอนนี้ก็มี Android, เบราว์เซอร์ Chrome แล้วก็แอพของกูเกิลใน iOS รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้จากกูเกิลเปิดตัว Chromecast ตัวช่วยสตรีมวิดีโอไปยังทีวี ควบคุมได้ด้วยสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตครับ และคนที่ยังไม่เคยใช้ Firefox ใน Andriod ก็ลองใช้ดูครับ เร็วกว่าเบราว์เซอร์ที่ติดมากับตัว Andriod เสียอีก ถามทำอะไร ๆ ได้มากกว่าด้วย https://play.google.com/store/apps/details?id=org.mozilla.firefox

ขอบคุณข่าวโดย @pittaya ครับ

 

มินิทิป(ส์): โคลนแท็บและวิธีดูรหัสผ่านภายใน 5 วิ

นาน ๆ จะได้เขียนเกี่ยวกับกลเม็ดและเคล็ดลับกับเขาเสียที เคล็ดลับอันแรกเป็นคีย์ลัดที่มีใน Firefox มานานมาก ๆ แล้ว และเป็นฟีเจอร์ใน Chrome ที่ชอบใช้มาก ๆ คือ การโคลนแท็บ (Duplicate Tab) ซึ่งใน Chrome ก็แค่คลิกขวาที่แท็บแล้วกดทำซ้ำ (Duplicate Tab) แต่สำหรับ Firefox นั้นไม่มีปุ่มให้เห็นแต่ก็แค่ไปกดที่ช่องที่อยู่ แล้วกด Alt + Enter (หรือ Opt + Enter ใน OS X)  เราก็จะได้แท็บใหม่ที่หน้าตาเหมือนกันเด๊ะ โง่อยู่เสียตั้งนาน

กด Alt + Enter ในช่องที่อยู่ แค่นี้เราก็โคลนแท็บที่อยากโคลนได้แล้ว

กด Alt + Enter ในช่องที่อยู่ แค่นี้เราก็โคลนแท็บที่อยากโคลนได้แล้ว

ส่วนกลเม็ดอันที่สอง เพิ่งรู้มาจากเว็บ Blognone ในกรณีของ Chrome ที่ดูรหัสผ่านที่บันทึกไว้ได้แค่ไม่กี่คลิก ซึ่งมีวิธีที่ง่ายกว่าและใช้ได้ทุกเบราว์เซอร์ แค่ใช้เครื่องมือนักพัฒนาเว็บ แก้ไข input ของช่องรหัสผ่านจาก type=”password” ให้กลายเป็น type=”text” เราก็จะเห็นรหัสที่เราบันทึกไว้ด้วยตาเปล่าเปลือย

เพราะฉะนั้นใครที่คิดจะบันทึกรหัสผ่านไว้ในเบราว์เซอร์ควรจะคิดให้ละเอียดอีกที แต่ถ้าคิดจะทำ คนที่ใช้ Firefox ก็ควรใช้รหัสผ่านหลัก (master password) ไว้ด้วย ปลอดภัยขึ้นเยอะ ถ้าเราไม่ใส่รหัสผ่านหลักตอนเราเปิดใช้งาน Firefox ก็จะไม่มีใครเห็นรหัสผ่านเราได้เลย แถมทำให้เจาะเอารหัสผ่านยากขึ้นด้วย

เปิดตัวตรวจเว็บขึ้นมา จิ้มที่ช่องรหัสผ่าน

เปิดตัวตรวจเว็บขึ้นมา จิ้มที่ช่องรหัสผ่าน

แก้ type ให้เป็น text แค่นี้เราก็ดูรหัสผ่านได้แล้ว ง่ายๆ ใช้เวลาไม่มากนัก

แก้ type ให้เป็น text แค่นี้เราก็ดูรหัสผ่านได้แล้ว ง่ายๆ ใช้เวลาไม่มากนัก

หลากวิธีที่ช่วยให้การใช้เน็ทของคุณเป็นส่วนตัวมากขึ้น

นับว่าเป็นความครึกโครมมากที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาหรือ NSA มีโครงการลับที่ชื่อว่า PRISM และ X-Keyscore ที่ NSA สามารถดักจับและเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของบริการดัง ๆ ของ Facebook, Microsoft, Google หรือ Apple ได้ทุกเมื่อ คล้อยหลังไม่เท่าไหร่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) ส่งเจ้าหน้าที่บินไปญี่ปุ่นเพื่อขอความร่วมมือในการเข้าถึงบัญชี Line ของผู้ใช้ในไทย (อ้างอิง) ทั้งสองกรณีก็อ้างว่าทำเพื่อความมั่นคงของชาติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่โปรงใส่เท่าไหร่ว่าจะเอาเท่าไหร่ เมื่อไหร่ ข้อมูลที่เอาไปมีขนาดไหน มีอะไรบ้าง ยิ่งทางฝั่งเราแทบจะไม่ค่อยเปิดเผยพวกนี้อย่างเป็นกิจลักษณะให้ประชาชนตรวจสอบได้เสียเท่าไหร่

ทางเว็บ Who Is Hosting This? (เห็นจาก LifeHacker) ได้สร้าง infographic แนะนำกลเม็ดเคล็ดลับในการใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นส่วนตัวมากขึ้น ไม่โดนคนสอดส่องข้อมูลได้ง่ายๆ โดยเริ่มจาก

เครื่องมือค้นหา

Google นั้นเก็บข้อมูลการค้นหาเราทุกอย่าง โดยเฉพาะคนที่ใช้ google account อยู่สามารถเปิดดูย้อนหลังได้ว่าตัวเองเคยค้นหาอะไรได้บ้าง โดยตอนนี้เรามีสองตัวเลือกใหม่คือ

  • DuckDuckGo: สัญญาว่าจะไม่เก็บประวัติการค้นหา และไม่ขายข้อมูลการค้นหาของเรา
  • BelkKO: เก็บข้อมูลการค้นหา แต่จะลบ IP และ user-agent ภายใน 48 ชั่วโมง แต่ถ้าเปิดโหมด super privacy ก็จะไม่เก็บข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น

infographic ให้ DuckDuckGo เป็น Winner สำหรับเครื่องมือค้นหา ทาง Mhafai ก็เห็นด้วยเคยใช้สักพัก การค้นหาภาษาอังกฤษค่อนข้างแม่นยำ แถมมีลิงก์ wikipedia เป็นกล่องแยกออกมาด้วยอีกต่างหาก แถมรองรับ https ในตัว

เบราว์เซอร์

ใน infogrphic บอกว่าถ้าต้องการความเป็นส่วนตัวให้เลิกใช้ Chrome, IE และ Safari เพราะถึงแม้ว่าจะใช้โหมดความเป็นส่วนตัว (Incognito หรือ Private Browsing) ก็ยังเก็บคุกกี้เพื่อติดตามว่าเราค้นหาอะไรบ้าง แล้วก็เสนอตัวเลือกมา 3 ตัวเลือกคือ

  • Firefox: จำกัดข้อมูลที่จะส่งให้ผู้บริการ เน้นความเปิด โปร่งใส และเป็นมิตรกับผู้ใช้ที่ต้องการความเป็นอยู่แล้ว แต่ก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้ามีข้อเรียกร้องมา
  • Opera: อ้างว่าจะไม่เก็บหรือแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้ และการใช้งานก็จะไม่ถูกติดตามด้วย ในส่วนของฟังก์ชันการค้นหา มีการส่งคุกกี้ไปให้ third-party เว็บไซต์แต่จะไม่ส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปให้
  • Tor: เป็นเบราว์เซอร์แบบ portable ไม่ต้องติดตั้งลงเครื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ช่วยเรื่องความเป็นส่วนตัวหมด 100% แต่การเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะเป็นนิรนาม และป้องการการส่งข้อมูลพื้นที่ (Geo-location) กับข้อมูลการเยี่ยมชมไซต์ได้อีกด้วย

infographic ให้ Tor เป็น Winner ทาง Mhafai ก็เห็นด้วยเช่นกัน Tor ปกปิดเรื่องตัวตนดีมาก ๆ ถึงแม้จะมีบั๊กที่ทำให้ mac address หลุดรั่วออกไปแต่ก็มีการปรับรุ่นตามมาแบบสายฟ้าแลบ แต่ประเด็นเรื่องความเร็วของ Tor คือเป็นส่วนที่เราต้องยอมรับว่ามันช้า เพราะข้อมูลมันวิ่งไปมาหลายโหนดกว่าจะแลกเปลี่่ยนกันเสร็จก็เหงือกแห้งพอดี ในการใช้งานปกติ Mhafai ขอแนะนำว่าให้ใช้ Firefox บวกกับ HTTPS Everywhere จะดีกว่าเยอะในแง่ความเร็วในการใช้งาน

บริการอีเมล

แนะนำให้บริการอีเมลที่มีคุณสมบัติการการเข้ารหัสมาให้ในตัว หรือบริการเข้า/ถอดรหัสข้อมูลเช่น

ความเห็นจาก Mhafai: ถึงแม้ว่าเราจะเลิกใช้อีเมลพวก gmail, outlook (hotmail) หรือ yahoo ได้ยาก อะไรที่สำคัญมาก ๆ ก็ควรจะเข้ารหัสข้อความไว้ด้วยแล้วส่งรหัสในการถอดแยกออกมาอีกที่หนึ่ง โดยเฉพาะ gmail นั้นเป็นบริการอีเมลที่แอบอ่านข้อความของเราเพื่อเอาโฆษณาขึ้นมาขาย

แชท

บริการที่ควรหลีกเลี่ยงคือ Skype กับ Google Talk

  • crypto.cat: บริการแชทในเบราวเซอร์ สามารถใช้ได้กับ Firefox Chrome Safari และ Mac การส่งและการสื่อสารนั้นถูกเข้ารหัสไว้ในตัว แต่ไม่ปิด IP ถ้าอยากจะซ่อน IP ควรใช้กับเบราว์เซอร์ Tor
  • pidgin.im: นกพิราบตัวเก่งหลาย ๆ คนคงรู้จัก chat client ตัวนี้ดีใช้บริการ (โปรโตคอล) ได้หลายตัวเช่น AIM, MSN, Yahoo หรือ ICQ แถมรองรับการเข้ารหัสการส่งข้อมูลด้วย
    Telegram: บริการที่เป็นการฟิวชั่นระหว่าง Line กับ iMessage ด้วยต้วยแอพนั้นหน้าต่างสะอาด ใช้ง่าย และเร็ว แถมมีสติ๊กเกอร์ด้วย ไม่พอยังมี client อยู่ทุกระบบปฏิบัติการดัง สุดท้ายก็ยังมี secret chat ที่สามารถตั้งเวลาทำลายข้อความได้อีก

ความเห็นจาก Mhafai: บริการข้างบนเน้นไปด้าน desktop เสียส่วนใหญ่ แต่ในมือถือนั้น Mhafai แนะนำว่า สำหรับผู้ใช้ iOS มีบริการขั้นเทพอย่าง iMessage ที่ข้อความจะถูกเข้ารหัสก่อนถูกส่งและถูกถอดได้ที่เครื่องปลายทางเท่านั้น ถึงดักข้อมูลได้ก็ได้เป็นข้อมูลเข้ารหัสที่อ่านไม่ออกแทน ส่วน Android ทางผู้ผลิดรอมอย่าง CyanogenMod ก็กำลังสร้างบริการแบบเดียวกันกับ iMessage ด้วยเช่น แถมกำลังพัฒนาโหมด Incognito มาในรอมตัวนี้อีกด้วย

แต่สำหรับตัวเลือกแบบข้ามแพลตฟอร์ม Whatsapp ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ มีการเข้ารหัสในตัว Line รุ่นแรก ๆ ไม่มีการเข้ารหัส แต่ก็ได้รับการแก้ไขในภายหลัง ตอนนี้ก็ถูกตำรวจไทยร้องขอข้อมูล ไม่ว่าทาง Naver Japan จะให้หรือไม่ให้ การหลีกเลี่ยงการคุยอะไรที่สำคัญใน Line ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

วิดีโอแชท

บริการที่ควรหลีกเลี่ยงคือ Skype กับ Google Hangout

Goober: คล้าย ๆ กับ Skype บริการจำพวก IM และ socail media มีคุณสมบัติการใช้งานวิดีโอแชทในตัว และสัญญาว่าจะไม่ขายข้อมูลของเรา

VoxOX: คล้ายกับ Skype เช่นกัน มีบริการสำหรับธุรกิจที่ต้องการซื้อ volume การโทร ส่ง sms ในจำนวนมากด้วย มีการติดตามการใช้งานแต่จะไม่แบ่งปันจนกว่าจะมีหมายศาลขอเข้าถึง

ความเห็นจาก Mhafai: บริการสองตัวบนสามารถทดแทน Skype ได้สบาย ๆ แถมมีไคลเอนท์สำหรับมือถือกับแท็บเล็ตอย่าง iOS และ Android ด้วย

บริการฝากข้อมูล

บริการที่ควรหลีกเลี่ยงคือ Google Drive กับ Dropbox

Tresorit: ให้พื้นที่ 5 GB การเข้ารหัสเริ่มตั้งแต่เครื่องผู้ใช้ การส่งข้อมูล มีเลเยอร์ความปลอดภัยหลายชั้น ไม่มีการแตะต้องข้อมูล และให้เงิน $10,000 สำหรับคนที่หาบั๊กความปลอดภัยของบริการนี้ได้ ตอนนี้มีให้บริการเฉพาะ WIndows ระบบปฏิบัติการอื่นจะตามมาทีหลังโดยเฉพาะมือถือและแท็บเล็ต

ความเห็นจาก Mhafai: Tresorit เป็นบริการที่ค่อนข้างน่าสนใจมาก แต่เนื่องจากยังไม่รองรับในหลายปฏิบัติการ ถ้าอยากทำให้ Google Drive และ Dropbox ปลอดภัยมากขึ้นก็ควรใช้ TrueCrypt ที่ทั้งฟรีและโอเพ่นซอร์สในการเข้ารหัสไฟล์ (หรือทั้งไดร์ฟ) ควบคู่ไปด้วย

ส่วนในเรื่องอื่น ๆ ก็เช่น (บางอย่างก็มีเคยแนะนำไปแล้ว)

  • ตั้งรหัสให้ต่างกันในแต่ละไซต์ ยาวเข้าไว้ และง่ายในการจำ ไม่ควรเก็บรหัสผ่านไว้ในเบราว์เซอร์ถ้าไม่มีรหัสผ่านหลักในการป้องกัน (บทความ: ถ้าเราเก็บรหัสผ่านไว้ในเบราว์เซอร์ มันจะปลอดภัยไหม?)
  • กรณีที่ต้องไปใช้อินเทอร์เน็ตในที่สาธารณะ และไม่มีการเข้ารหัส WiFi ควรใช้ VPN รวมด้วย บริการฟรีที่ Mhafai แนะนำก็มี TunnelBear กับ VPN Gate สองตัวนี้จะทำให้การเชื่อมต่อครอบคลุมแทบจะทั้งระบบปฏิบัติการ หรือถ้าจะเป็น VPN สำหรับเบราเซอร์อย่างเดียวก็แนะนำ ZenMate
  • สุดท้ายนี้ ไม่มีการป้องกันใด ๆ ที่สมบูรณ์แบบ ควรเตรียมตัวเตรียมใจรอรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอครับ

Continue reading …

Firefox 23 กับโลโก้ใหม่และตัวตรวจสอบเครือข่าย

ดาวน์โหลด Firefox 23 ได้ที่

  • รุ่น Desktop ธรรมดาและรุ่น Android

เจอ กันอีกแล้วสำหรับ Firefox รุ่นใหม่ที่ออกทุกๆ 6 สัปดาห์ สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไม Firefox ปรับรุ่นบ่อยจัง นั้นก็เพราะว่าเทคโนโลยีด้านเว็บมันมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา บางมาตรฐานก็มีการปรับปรุงหรือออกรุ่นใหม่อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น Firefox จึงต้องมีความรวดเร็วในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ และผลประโยชน์ของการปรับรุ่นบ่อยๆ นั้นก็ส่งผลดีไปถึงผู้ใช้อย่างพวกเราโดยตรง

การเปลี่ยนแปลงอย่างแรกเลยใน Firefox 23 ก็คือสัญลักษณ์ใหม่ที่ถูกปรับใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัยของโมบายล์ (รายละเอียดเพิ่มเติม: โลโก้ Firefox ถูกขัดเกลาใหม่ ให้ต้อนรับกับยุคสมัยที่กำลังจะมาถึง)

ถูกเสริมความปลอดภัยด้วยการปิดกั้นเนื้อหาที่ (น่าจะ) ไม่ปลอดภัย ในกรณีที่เราเปิดเว็บที่ใช้ HTTPS แล้วในเว็บนั้นก็มีการเรียกใช้เนื้อหาที่ใช้ HTTP ธรรมดาเข้ามา Firefox ก็จะทำการปิดกั้นเนื้อหา HTTP ให้อัตโนมัติ และจะแสดงรูปโล่ตรงแถบที่อยู่ ซึ่งในบางกรณีก็ทำให้เนื้อหาบางส่วนตกหล่น หรือแสดงผลไม่ปกติ แต่ Firefox ก็มีทางเลือกให้ปิดการใช้งานคุณสมบัตินี้ (ชั่วคราว) ได้ด้วย

Continue reading …

ดาวน์โหลดวิดีโอด้วยส่วนขยายไซส์จิ๋วกับ “Download YouTube Videos as MP4”

หมายเหตุ โปรดใช้ส่วนขยายนี้เพื่อความบรรเทิงเท่านั้น ไม่ควรใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

จากที่เคยแนะนำไปแล้วในบทความ มาเลิกใช้ IDM กันเถอะ มีสิ่งที่ดีและฟรีรอคุณอยู่ใน Firefox ที่ใช้ตัวช่วยดาวน์โหลดไฟล์เก่งๆ อย่าง DownThemAll และส่วนขยายที่ใช้ในการดาวน์โหลดคลิปอย่าง Easy YouTube Video Downloader แต่บังเอิญว่าส่วนขยาย Easy YouTube Video Downloader นั้นไม่เข้ากันกับ Firefox 22 สักพักหนึ่ง​ (ตอนนี้ใช้ได้ปกติแล้ว) ก็เลยต้องหาส่วนขยายตัวใหม่ใช้แทน ซึ่งพอดีมาเจอ Download YouTube Videos as MP4 ใช้ไปสักพักแล้วรู้สึกติดใจก็เลยเปลี่ยนมาใช้ตัวนี้แทนแล้ว โดยจุดเด่นของมันก็คือ

  • ขนาดไฟล์ติดตั้งเล็กมาก แค่ 15 Kilobytes
  • ข้ามแพลดฟอร์ม โดยส่วนขยายตัวนี้ใช้โค้ดตัวเดียวกับสคริปต์ของ userscipts.org ที่ใช้ชื่อเดียวกัน คนที่ใช้เบราว์เซอร์อื่นก็สามารถใช้ส่วนขยายตัวนี้ไม่ต่างจาก Firefox
  • หน้าตาดูเข้ากันกับปุ่มอื่น ๆ ใน Youtube ต่างจาก Easy YouTube Video Downloader ที่ปุ่มเด่นและแปลกแยก (ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยชอบเอามาก ๆ )

แต่ก็มีจุดน่าสังเกตอยู่เล็กน้อย แต่คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่เท่าไหร่อย่าง

  • ไม่ใช่ restartless ติดตั้งแล้วต้องเริ่ม Firefox ใหม่ครั้งหนึ่ง
  • ไม่มีบริการในการแปลงไฟล์เป็น mp3 ดาวนโหลดได้แค่วิดีโอ mp4 หรือ flv เท่านั้น

สำหรับคนที่สนใจไปติดตั้งได้จากลิงก์นี้เลย https://addons.mozilla.org/en-US/firefox/addon/download-youtube/ ตัวอย่างการใช้งานดูได้จากด้านล่างนี้ครับ Continue reading …