เกริ่น
Firefox OS ชื่อเดิมคือ Boot to Gecko หรือที่เรียกสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า B2G เป็นระบบปฏิบัติการบนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างมือถือและแท็บเล็ต และเมื่อเป็นซอฟต์แวร์ที่ออกภายในรังของ Mozilla แล้วก็ต้องเป็นระบบเปิด (open source) มาตั้งแต่กำเนิด
โดยแกนกลางของระบบปฏิบัติการเป็น Linux โดยมีส่วนติดต่อผู้ใช้ (UI) ที่ชื่อว่า Gaia ถ้าเป็นแฟน ๆ ผู้ใช้ Firefox มาก่อนแล้วล่ะก็คงเข้าใจความยืดหยุ่นของ Firefox ที่จะแปะโน้น ย้ายนี้ ทำอะไรก็ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ผลิตหรือจะเป็นเราก็ทำอะไรกับ Gaia ก็ได้ สามารถเปลี่ยนแปลงส่วนติดต่อผู้ใช้นี้ได้เองตามที่ใจต้องการ
แล้วแอพฯ ในเครื่องเขียนด้วยภาษาอะไร?
แค่เขียนเว็บเป็นก็สามารถเขียนแอพใน Firefox OS ได้เพราะตัวแอพฯ นั้นเขียนด้วย HTML5 + CSS + JavaScript ได้เลยเหมือนกับ webOS และ Tizen อีกทั้งถ้าต้องการเข้าถึงในส่วนของระบบปฏิบัติการหรือฮาร์ดแวร์ของโทรศัพท์ก็ยังมี WebAPI เป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างเว็บกับ Native API มาให้ใช้ (อ่าน Introducing WebAPI สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม) ผู้พัฒนาแอพจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาในการทำความเข้าใจ Native API อีกต่อนึง แถม WebAPI ตัวนี้ Mozilla ยังพยายามผลักดันเข้า W3C เพื่อให้เป็นมาตรฐานเว็บอีกด้วย
บางคนอาจกังวลว่าขึ้นชื่อว่าเว็บแอพอาจจะต้องต่อเน็ตตลอด แต่ก็ไม่ต้องกังวลไปใน HTML5 ก็มี Application Cache ทำให้เราใช้เว็บแอพในโหมดออฟไลน์ได้
แล้วมือถือตัวจริงล่ะ?
ล่าสุดฝั่งยุโรปอย่างที่เสปนก็ได้รับการเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาอย่างเป็นทางการแล้วคือ ZTE Open ในราคา €69 หรือ 2800 บาท ถ้าเทียบเป็นเงินไทย และจะทยอยเปิดตัวอีกหลายประเทศในประเทศยุโรบและอเมริกาใต้
ส่วนนักพัฒนาชาวไทยถ้าอยากจะลองใช้ ณ ตอนนี้ก็มีมือถือรุ่นนักพัฒนาออกมาอย่าง Keon และ Peak ของ Geeksphone ให้นักพัฒนาที่สนใจกับมันซื้อไปทดสอบและพัฒนแอพกันได้ (มือถือตัวนี้อาจจะค้างหรือเกิดเหตุไม่คาดฝันได้เสมอ เพราะมันไม่ใช่มือถือของผู้บริโภค (consumer))
มีคนไทยสั่งซื้อมาแล้วพร้อมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ลองอ่านรีวิวก็ได้ที่ รีวิว Geeksphone Keon
โหลดและติดตั้งแอพได้จากไหน?
การใช้งานแอพทำได้อยู่สองทางคือ
- Firefox Marketplace: ศูนย์รวมแอพของ Firefox OS หน้าต่างก็ไม่ต่างจากเจ้าอื่นอย่าง iTunes Store กับ Google Play Store ดาวน์โหลดและติดตั้งได้ทันที
- Adaptive App Search: แค่ค้นหาจากช่องค้นหาเช่น “ปาล์มมี่” “ผัดไทย” หรือ “พี่มาก” ลงไป Firefox OS ก็จะไปค้นหาเว็บที่มีคำค้นนี้อยู่เช่น เมนูในเว็บอาหาร ร้านอาหารในเว็บของนักชิม ทวีตในทวิตเตอร์ บทความในวิกิพีเดีย เอ็มวีในยูทูบ หรือเพลงใน Grooveshark
เจาะตลาดกลุ่มไหน?
Firefox OS ไม่ได้เกิดมาเพื่อแข่งกับ Android รุ่นบนๆ หรือ iOS แน่นอน แต่เกิดมาเพื่อโลก (ที่สาม) ที่ยังต้องการสมาร์ทโฟนราคาถูกแค่ไม่กี่พันบาทแต่ก็สามารถทำได้หลาย ๆ อย่างที่สมาร์ทโฟนรุ่นบนทำได้ และดีกว่าฟีเจอร์โฟน โดยมีหัวใจคือเว็บแอพฯ ที่พัฒนาได้ง่ายกว่าและพัฒนารอบเดียวเสร็จ ไม่ยึดติดอยู่กับระบบปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าถึงได้ตลอดเวลาที่มีอินเทอร์เน็ต
กับภาษาไทยล่ะ?
เบื้องต้นส่วนติดต่อผู้ใช้สามารถใช้ภาษาไทยและการตัดคำในเบราว์เซอร์ได้ไม่มีปัญหา เพราะตัวเรนเดอร์ก็คือ Gecko อยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาภาษาไทยนัก แต่ตอนนี้ตัว Firefox OS ยังไม่สามาถป้อนข้อมูลเป็นภาษาไทยได้ เพราะเรื่องการป้อนข้อมูล (input method) เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่มาก ต้องใช้คนที่มีความรู้ทางด้านนี้เข้ามาช่วยกันคิด ถ้าใครพอจะมีแรงเหลือในเรื่องนี้แนะนำให้เข้ากลุ่ม Mozilla Thailand Community ใน facebook เพื่อมาช่วยกันคิดช่วนกันแก้ไขปัญหาครับ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
वीर wrote on :
वीर wrote on :
Pingback from Firefox OS กับ ก. ไก่ | Mozilla Thailand Community on :